ในช่วงเวลาเปราะบางอย่างนี้ วางกติกาปกติลงก่อน – ‘โค้ชหนุ่ม’ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ พูดประโยคนี้ขึ้นมาหลังจากให้คำแนะนำเรื่องวิธีเจรจาหนี้อย่างตรงไปตรงมาและทำได้จริง
เพราะอุปสรรคสำคัญหรือความรู้สึกด้อยกว่าและคิดไปไกลก่อนว่าเจ้าหนี้ไม่ประนีประนอมแน่
“ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร มันมีโอกาสที่บางสภาวะการเงินเราไปตกหลุมทำให้ติดขัดบางช่วง ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรหากเราเข้าไปพูดคุยถึงสภาวะ ปัญหาในบางช่วงเวลา เพื่อจะแก้และผ่านพ้นไป ทำให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเป็นปกติของเรา”
ลูกหนี้ที่ไม่หนีคือลูกค้า ที่เข้าไปเจรจาอย่างรับผิดชอบ
“ลำพังแค่ปัญหาสภาพคล่องก็ทำให้เราแย่แล้ว อย่าทำให้การภูมิใจในชีวิตมันรู้สึกเสียหาย เรายืมเงินเขา ไม่ได้ขอ”
ฝั่งเจ้าหนี้เองที่ก็โดนโควิด-19 เล่นงานซะอ่วมไม่แพ้กัน เจ้าสำนัก Money Coach แนะนำว่า ถ้าคาดหวังจะเก็บได้เต็มจำนวนแบบเมื่อก่อนคงไม่ได้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ว่าเงินกลับคืนมาแค่ไหน ที่พอจะทำให้กิจการเดินต่อไปได้
“เพราะนี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ สัญญาที่เป็นกระดาษ 3-4 แผ่น มันก็ทำใหม่ได้ ผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษได้”
ตั้งแต่โควิดระลอก 1 ถึงล่าสุด มีคนเข้ามาปรึกษาโค้ชหนุ่มเรื่องอะไรมากที่สุด
หลักๆ เป็นเรื่องสภาพคล่อง คือ รายได้ รายจ่ายที่ไม่สมดุลกัน ก่อนมีโควิดเมืองไทยมีหนี้ครัวเรือนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นหนี้การบริโภคที่สูง ตอนก่อนโควิดจะไม่มีผลกระทบมากเพราะเรายังมีรายได้กันอยู่ จึงทำให้มีเงินพอใช้หนี้ เมื่อล็อคดาวน์เพราะโควิดระบาดช่วงมีนาคม รายได้บางคนหายไปบางส่วน บางคนหายไป 15-20 เปอร์เซ็นต์ บางคนก็หายไปหมดเลย รายได้เป็นศูนย์ แต่ฐานของรายจ่ายยังมีอยู่และมีภาระหนี้ที่เยอะอยู่มาก มันเลยเป็นเรื่องใหญ่
เป็นเรื่องที่ตอบคำถามเยอะที่สุดภายในหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา คงจะตอบไปเรื่อยๆ อีกสัก 2-3 ปีเลย เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบระยะยาว

โค้ชหนุ่มให้คำแนะนำว่าอย่างไร
ถ้าเอาแบบการจัดการที่ง่ายและเร็วที่สุด ทางเลือกแรกคือ เจรจากับเจ้าหนี้ เพราะหนี้เป็นระบบคู่สัญญา เมื่อไหร่ก็ตามที่ทั้งสองฝั่งเห็นตรงกันว่าควรจะปรับเงื่อนไขต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ คนที่สภาพคล่องมีปัญหาก็เหมือนกับคนที่มีเลือดไหลอยู่ตลอดเวลา เราต้องห้ามเลือดก่อน
อันดับที่ 1 คือ ลิสต์รายการเจ้าหนี้ทุกรายมาว่ามีใครบ้าง จากนั้นจึงเข้าไปเจรจา คำว่าเจรจาในที่นี้หมายถึงการทำให้การผ่อนของแต่ละเดือนต่ำลง จะเป็นเงื่อนไขอะไรก็ได้ เช่น หยุดชำระชั่วคราว จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ขอลดดอกเบี้ยลง ขอลดสัดส่วนการผ่อนลง ทำได้หมดเลย เพียงแต่ว่าการเจรจาที่ดีคือการเจรจาที่มีเงื่อนไขและเวลา เพราะถ้าเราไปบอกเขาว่าขอหยุดชำระได้ไหม เจ้าหนี้ก็คงตกใจเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง บอกเจ้าหนี้ไปเลยว่าขอพัก 3 เดือน 6 เดือน หลังจากนี้จ่ายดอกเบี้ย 1 ปีก่อนอย่างเดียวได้ไหม ที่สำคัญ เมื่อไปเจรจาอย่าคิดขึ้นลอยๆ หรือมั่วๆ ให้ทำลงบนกระดาษ ดูว่า หนี้รายการที่ 1 เคยส่งเดือนละ 10,000 บาท ถ้าเหลือ 4,000 บาท จะทำให้ตัวเลขโดยรวมของเราหายติดลบไหม ต้องทำหนี้ทุกตัวเพื่อดูภาพรวมเบ็ดเสร็จว่ามันสามารถอยู่ได้จริงไหม ไม่ใช่ไปบอกว่า อันนี้เขาหยุดให้ อันนี้ลดนิดนึง สุดท้ายโดยรวมก็ยังติดลบอยู่ดี อย่างนี้ถือว่าการเจรจาไม่ได้ส่งผลอะไร
อันดับที่ 2 คือ ลดค่าใช้จ่าย เชิญบุคคลในบ้านทั้งหมดมาประชุมกัน เพราะเคยเกิดกรณีคุณพ่อคุณแม่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเต็มที่ แต่ลูกไม่ได้รับรู้สถานการณ์ ใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ต้องมาคุยกันทีเดียวว่าจะปรับลดค่าใช้จ่ายตรงไหนได้บ้าง
อันดับที่ 3 หางานที่สองและสาม เมื่อความมั่นคงทางรายได้เปลี่ยนไป ถ้าเริ่มประคับประคองตัวได้แล้วก็ควรหยิบจับงานที่สองที่สามเพิ่มขึ้นมา เพราะอาจเป็นการป้องกันในระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า ถ้าเครื่องยนต์ทางการเงินมันดับไปสักตัว ควรจะมีเครื่องยนต์ตัวที่ 2-3 ไปสำรองไว้

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ลูกหนี้ที่ลำบาก แต่เจ้าหนี้ก็ลำบากเหมือนกัน ควรทำอย่างไร
ผมเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์วิกฤติปี 2540 มา ต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนว่า คนกลุ่มแรกที่มีปัญหาก่อนคือลูกหนี้ และเมื่อลูกหนี้ไม่ช่วยกันผ่อนปรนเจ้าหนี้ก็จะมีปัญหาตามมาด้วยเพราะไม่มีคนจ่ายหนี้ ในสถานการณ์อย่างนี้เจ้าหนี้ต้องบริหารลูกหนี้เชิงรุก หมายความว่า หากเป็นเมื่อก่อนเราให้เขายืมเงินไป ผ่อนกันเป็นรายเดือน อีก 30 วันเราค่อยมาลุ้นว่าเขาจะคืนเราไหม อันนี้คือไม่ได้แล้ว ตอนนี้เราต้องเข้าไปคุยกับลูกหนี้ ใครไหว ใครไม่ไหว เช่น เจ้าหนี้การค้า เข้าไปคุยเลยว่าจ่ายไหวไหม ไม่ไหวก็แบ่งเป็น 3 งวด อาจจะทำให้เบาลง
หัวใจสำคัญของฝั่งเจ้าหนี้คือ เราอาจคาดหวังเงินที่เก็บเต็มจำนวนแบบเมื่อก่อนคงไม่ได้ แต่อาจจะต้องประเมินสถานการณ์ตนเองว่าเงินกลับคืนมาแค่ไหน ที่พอจะทำให้เราดูแลกิจการของเราไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าสถานการณ์แบบไหนก็ตาม เราควรเป็นหนี้ไหม
เมื่อเวลาเราพูดคำว่าหนี้ เราจะมองเห็นเชิงลบ เป็นภาระ เป็นตัวที่ทำให้ชีวิตมีปัญหา หากผมจะใช้คำใหม่เป็นคำว่า ‘สินเชื่อ’ บ้างได้ไหม เมื่อเราจะหยิบจับใช้จ่ายจริงๆ จะแบ่งกลุ่มได้เป็น 2 ประเภท
กลุ่มที่ 1 คือ ต้องการต่อยอดหรือเติมอะไรบางอย่างให้กับชีวิต โดยที่สภาวะการเงินในตอนนั้นอาจจะยังไม่พร้อม เลยเลือกใช้สินเชื่อเพื่อมาเติมความต้องการในชีวิต เช่น ผมอยากเรียนหนังสือ ผมเชื่อว่าการศึกษาจะต่อยอดชีวิตผมได้ แต่ครอบครัวผมไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นการใช้สินเชื่อหรือเงินกู้ยืมทางการศึกษาจาก กยศ. หรือ กรอ. ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ผมคิดว่าเมื่อผมจบการศึกษา ผมจะมีความสามารถชำระคืนได้ ซึ่งการเป็นหนี้แบบมีเจตจำนงชัดอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดอะไร เพราะเป็นการใช้สินเชื่อภายใต้การวางแผน ดังนั้นสินเชื่อจะเป็นปัญหากับอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่า คือ อาจจะอยู่ในลักษณะที่ไม่ได้เตรียมพร้อม หรือไม่ได้ประเมินให้ดีว่าเราพร้อมที่จะจัดการกับสิ่งนั้นไหม เช่น การออกรถยนต์โดยไม่พร้อมผ่อน แม้กระทั่งการใช้สินเชื่อผิดประเภท เช่น การกู้ยืมเงินมากินมาใช้เต็มเหนี่ยวผ่านบัตรเครดิต มันจึงทำให้สินเชื่อมีปัญหา
ผมมองสินเชื่อเป็นสิ่งที่ทั้งมีประโยชน์และโทษไม่ต่างอะไรจากไฟ ไม่ต่างอะไรจากมีด คนใช้ไฟใช้มีดสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตได้ และเขาก็ใช้ไฟใช้มีดทำให้ตัวเองเจ็บปวดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคุณจะใช้สินเชื่อ หรือไม่ใช้สินเชื่อ ก็ไม่ผิด อย่าไปบอกว่ามันคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะสุดท้ายมันขึ้นกับผลลัพธ์ที่เรานำไปใช้ และเมื่อถึงขั้นเกิดปัญหาขึ้นมาอย่าไปกลัวถึงขั้นมองเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะมันยังสามารถแก้ไขได้อยู่ดี
ในมุมผม ประโยค ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ กับการสูญเสียบางอย่างในชีวิตไปมันอาจจะย่ำแย่กว่าการเป็นหนี้ บางคนเก็บเงิน 1 ล้านบาทไว้ลงทุน กับคนที่วันนี้ใช้สินเชื่อ 1 ล้านเพื่อเอามาลงทุนทำกิจการก็สามารถเริ่มได้เลยแม้ว่าจะมีต้นทุนของมันก็ตาม
โดยปกติเราควรมีสัดส่วนหนี้เท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้
ผมจะไม่ประเมินเป็นตัวเลขว่าควรจะเท่าไหร่ แต่ผมจะให้ดูจากภาระผ่อนจากหนี้มากกว่า เพราะเวลาเราขอสินเชื่อเรามีโอกาสที่จะได้สินเชื่อในดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือเงื่อนไขที่ดี ทำให้ผ่อนน้อยลง โดยปกติคนที่มีชีวิตสบายๆ การเงินดี เช่น มีเงิน 100 บาท อัตราส่วนการผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ 40 ต่อ 100 บาท เขาเรียกว่า Debt Service Ratio (DSR) หรือสัดส่วนของหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยทำตัวเลขไว้ว่า ถ้าเกิน 60 จะอืด นึกภาพว่าเราหาเงินได้ 100 เราไม่ได้เอาเงินทั้ง 100 มาใช้ได้เลย จะต้องมีคนมาเอาเงินเราไปก่อน ถ้าเป็นพนักงานประจำก็ถูกหักภาษี เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ผมตีเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 5-10 เราก็จะเหลือเงินในกระเป๋าวันเงินเดือนออกแค่ 90-95 ถ้าเรามีภาระการใช้หนี้ประมาณสัก 40 เราก็จะเหลือประมาณ 50-55 เอาไว้กินใช้ทั้งเดือน แบบนี้มันพอไปได้ แต่ถ้าเรามีภาระหนี้ 60 ขึ้นไป เราโดนหักเงินเหลือแค่ 30-35 ซึ่งมันเหลือน้อย แบบนี้มันเริ่มอืดแล้ว
‘หนี้ที่เป็นธรรม’ ในความเห็นของโค้ชหนุ่ม น่าจะมีความหมายอย่างไร
คำว่าเป็นธรรมมันควรจะเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย สมเหตุสมผลและไม่เอารัดเอาเปรียบ ฝ่ายที่เป็นผู้ให้กู้ผมคิดว่าสิ่งที่เขาจะได้คือดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนของเงินที่เขาให้ยืมแบบที่สามารถชดเชยความเสี่ยงได้ ซึ่งสิ่งที่ชดเชยความเสี่ยงมีอยู่ 2 แบบคือ สินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เงินกู้ซื้อบ้าน และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นดอกเบี้ยจึงต้องสูงกว่าดอกเบี้ยราคาบ้าน แต่ก็ต้องไม่มากเกินไปสำหรับผู้ที่ขอยืมหรือขอกู้ ในมุมมองของผมคิดว่าบ้านเราดอกเบี้ยบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดยังแพงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ธนาคารให้เรา 1 เปอร์เซ็นต์ ออมทรัพย์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเราเป็นหนี้ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ สินเชื่อส่วนบุคล 22-26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีส่วนต่างพอสมควร ธนาคารบอกว่าเขาก็เสี่ยงเพราะหนี้ที่ให้ยืมไม่มีอะไรค้ำประกัน แต่ผมจะบอกกลับว่ามันก็มีอีกวิธีหนึ่งที่จัดการได้คือ ให้กู้น้อยลงสิ
ในมุมของผู้ให้กู้ผลตอบแทนก็ต้องคุ้มค่าสำหรับเขา คุ้มกับการที่เขาจะนำมาประกอบการลงทุน การบริหารพนักงาน หรือค่าใช้จ่ายภายในต่างๆ และต้องมีดอกเบี้ยที่สามารถไปชดเชยกับความเสี่ยงได้
ด้านของผู้กู้
1. เรื่องดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนก็ควรที่จะสมเหตุสมผล คือ ไม่สูงมากจนชีวิตเขาเคลื่อนไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายจะทำให้เกิดงูกินหาง คือไม่มีเงินมาผ่อนชำระหนี้ให้ผู้กู้อยู่ดี
2. เงื่อนไขข้อมูลต่างๆ ควรจะสามารถสื่อสารให้ผู้กู้เข้าใจได้ เช่น เรื่องของดอกเบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ยกตัวอย่าง การสมัครบัตรเครดิตจะมีข้อมูลของการสมัครเยอะๆ และมีขนาดตัวอักษรที่เล็กมากๆ ซึ่งข้อมูลตรงนี้สำคัญมาก ควรแสดงให้เห็นชัด เพราะบางคนก็ไม่รู้ หลายคนไม่ได้อ่าน
ประเด็นที่ผมเจอปัญหาบ่อยก็คือ การให้สินเชื่อที่มีความรับผิดชอบ หมายความว่า เราประเมินได้ว่าคนคนนี้สามารถชำระเงินคืนเราได้หรือเปล่า ยกตัวอย่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเงื่อนไขว่า เวลาออกสินเชื่อประเภทที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกัน เช่น บัตรเครดิต ถ้าเงินเดือนของผู้กู้ประมาณ 15,000 บาท เราไม่ควรให้กู้เกิน 3 เท่า ซึ่งมีค่าเท่ากับ 45,000 บาท นี่คือวงเงินที่เราประเมิน แต่ผมถามหน่อยว่าแล้วมันต้องควบคุมกันไหมว่ามีกี่เจ้าที่จะออกบัตรเครดิตให้กับคนหนึ่งคนได้ สมมุติออกให้ทั้งหมด 10 เจ้า วงเงินรวมจะอยู่ที่ 450,000 บาท ซึ่งธนาคารก็ทราบประวัติตรงนี้ การออกบัตรให้ซ้ำจะเป็นการไปซ้ำเติมหรือเปล่า สุดท้ายก็จะไปสู่กระบวนการของการหยุดชำระแล้วก็ไปขึ้นศาล ธนาคารต้องประเมินความรับผิดชอบของเขา บางทีเขาไม่มีกำลัง แต่เราให้สินเชื่อบริโภคเขาไปเพิ่มภาระ ก็จะส่งผลกระทบกลับมา
จากประสบการณ์เกิน 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ที่เป็นธรรมในสังคมไทยเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
หนี้ที่เป็นธรรมผมคงต้องขอใช้เวลาคิดสักนิด แต่ที่แวบเข้ามาในหัวเลยคือหนี้ไม่เป็นธรรม เพราะมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น หนี้นอกระบบ ซึ่งควรอยู่ภายใต้การควบคุม การควบคุมได้ทางหนึ่งคือการทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันยังถามหาสลิปเงินเดือนกันอยู่เลย ทั้งๆ ที่คนบางกลุ่มไม่มี เพราะอย่างนั้นจึงควรมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้เขาสามารถได้สินเชื่อเช่นเดียวกัน
สินเชื่อที่เป็นธรรม เช่น สินเชื่อบ้านคงพอรับไหว 3 เปอร์เซ็นต์ กับการได้ผ่อนบ้านก็ยังโอเคอยู่ ถ้าเป็นของภาครัฐให้ กยศ. ผมก็คิดว่ายังคงโอเค กู้ 100,000 ดอกเบี้ยทั้งปี 1,000 บาท ผมก็คิดว่ายังพอรับไหว
ปัญหาคือโค้ชหนุ่มเห็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าใช่ไหม
ถ้าอยู่ในระบบของกฎหมาย คือ เรากู้เงินจากสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่เรียกว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ผมคิดว่ากฎระเบียบ การดูแล การติดตามต่างๆ ยังคงโอเคอยู่ เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย แม้ว่าบางท่านจะเจอการติดตามที่ไม่ดีบ้างแต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายตรงนั้น กรณีที่มีปัญหาแล้วลุกลามไปถึงการยึดทรัพย์หรืออะไรต่างๆ มันก็ยังมีตัวของกฎหมายอยู่ ยกตัวอย่าง เราเป็นหนี้บัตรเครดิต 200,000 บาท มันลามไปถึงขายบ้านราคา 1 ล้าน ถ้าขายบ้านได้ก็จะคืนแค่ 200,000 ส่วนต่าง 800,000 ก็ยังเป็นเงินเรา ผมคิดว่าภายใต้การกำกับของกฎหมายก็ยังมีความเป็นธรรม ส่วนอีกมุมในเรื่องของดอกเบี้ยหรืออะไรต่างๆ ผมคิดว่าจะบอกเขาไม่เป็นธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คงจะไม่ได้
การจะวัดว่าหนี้แบบไหนเป็นธรรม หนี้แบบไหนไม่เป็นธรรม ควรจะมีเกณฑ์หรือมาตรฐานอะไร
ผมมองเป็นเรื่องเงื่อนไข
1. อัตราดอกเบี้ย ควรอยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม
2. การสื่อสารเงื่อนไข เช่น การผ่อนชำระคืน การยกเลิกสินเชื่อ การติดตามทวงถาม รวมไปถึงการเปิดช่องทางในกรณีที่ผู้กู้เกิดปัญหาได้เข้ามาปรึกษา พูดคุย เจรจา อย่างสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ไม่ควรที่จะให้ตัวกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งโจทย์แล้วติดต่อไป ปัญหาที่ผมเจอตอนนี้คือ คนไม่พร้อมที่จะเข้าไปคุย หรือติดต่อไปแล้วแต่ไม่เคยได้รับโอกาสคุย
สมัยก่อนผ่อนไม่ไหว คือ ปรับ ติดตาม ยึดทรัพย์ สถานการณ์เช่นนี้ก็เปลี่ยนเป็น เมื่อผู้กู้ชำระไม่ไหว เจ้าหนี้ก็มีช่องทางในการติดต่อพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
เราควรจะมองว่าคนที่เดินเข้ามาในธนาคารเพื่อขอเจรจาหนี้ว่านี่คือคนที่รับผิดชอบ ถ้าหนีคือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เขาเปิดการเจรจากับคุณแล้ว คุณก็น่าจะให้โอกาสเขา
3. การประเมินการให้สินเชื่อจะต้องมีความเหมาะสม ถ้าเป็นสินเชื่อที่มีความจำเป็น เช่น การศึกษาต่อ ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ หรือสินเชื่อธุรกิจอันนี้ผมเข้าใจ แต่ถ้าเป็นสินเชื่อบริโภคอยากให้ประเมินกันให้ดีๆ ไม่ใช่ขยันออกจนกลายเป็นเยอะเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไขยาก
ในช่วงของโควิดระบาด ลำบากกันทุกฝ่าย มันควรจะมี ‘ความพิเศษ’ เพิ่มเข้ามาไหม เช่น ความไว้ใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจผู้อื่น
เมื่อตอนที่เราพูดถึงความเป็นธรรมเราคงหาตรงกลางของความเป็นธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกหนี้ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว แสดงว่าลูกหนี้ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะเกิดไปหมดแล้ว แต่ผมมองในอีกมุมหนึ่งว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหามันมีอีกอย่างหนึ่ง คือ ในเมื่อสัญญาคือกระดาษ 3-4 แผ่น ซึ่งสองฝ่าย ผู้ให้กู้กับผู้กู้เป็นคนตกลงกัน กระดาษ 3-4 แผ่นนั้นมันก็ทำใหม่ได้ ผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษได้ เอากระดาษส่วนเพิ่มเติมไปแปะทับข้างหลังก็ยังได้
ถ้าถามว่าอะไรจะเป็นตัวช่วยในช่วงเวลาเหล่านี้ได้ ผมคิดว่านี่แหละ คือการเปิดให้มีการพูดคุยและเจรจา แบบที่มันเข้าถึงง่ายกว่าปัจจุบัน ในเมื่อช่วงนี้มันไม่ปกติ ก็ควรวางกติกาที่ปกติไว้ก่อนก็ได้ แล้วมานั่งไล่เลียงกันอีกรอบ
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกใบนี้มีทั้งลูกหนี้ที่ดี คือมีความตั้งใจที่จะจ่าย แล้วก็มีทั้งลูกหนี้ที่ไม่ดี หาช่องทางที่จะไม่จ่ายเจ้าหนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราเปิดกระบวนการและช่องทางการพูดคุย สื่อสาร เราอาจจะยื่นมือเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่ดี ที่เขาตั้งหน้าตั้งหน้าประกอบอาชีพเขาได้
เมื่อเราเข้าใจความหมายของการเป็นธรรมเหมือนกันแล้ว เรื่องของลูกหนี้ที่ดีและลูกหนี้ที่ไม่ดี มันจะเป็นสมการไปด้วยกันหรือเปล่า เช่น ถ้าเป็นกระบวนการที่เป็นธรรมลูกหนี้ที่ไม่ดีจะลดลง หรือไม่เกี่ยวข้องกัน
ตัวเลขที่จะไปกระทบกับจำนวนลูกหนี้ดีหรือไม่ดีผมไม่แน่ใจ แต่ผมคิดว่าถ้าเกิดการให้สินเชื่อหรือเงินกู้ที่เป็นธรรมภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อที่เราคุยกัน มันก็เป็นการหนุนหรือผลักดันเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนรวมถึงสินเชื่อเยอะขึ้น เงินออมก็จะลดลง เมื่อรายจ่ายสูงเขาก็จะไม่มีเงินไปเสริมสร้างความมั่นคงของเขา เพราะฉะนั้นคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดีอยู่แล้วถ้าเขาได้สินเชื่อที่เหมาะสม มีปัญหาอะไรต่างๆ เขาสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินเพื่อปรึกษา เจรจา หาทางออกได้ตลอดเวลามันจะเป็นการผลักดันให้ดีขึ้น อาจจะไม่เกี่ยวกับตัวเลขจำนวนของลูกหนี้ดีหรือไม่ดี แต่จะเป็นการสร้างโอกาสที่จะมีลูกหนี้กลุ่มที่สามารถใช้สินเชื่อแล้วทำให้ชีวิตไม่ติดปัญหา ประคองสถานการณ์ต่างๆ ภายใต้วิกฤติได้มากยิ่งขึ้น
หนี้ที่ไม่เป็นธรรมจะก่อให้เกิดอะไรตามมาบ้าง
ผมจะยกตัวอย่างกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบก่อน อัตราดอกเบี้ยสูง การผ่อนปรนน้อย เจรจาอะไรต่างๆ ไม่ได้ อันนี้ถือว่าเป็นกับดักทางการเงิน ส่วนหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงแต่ยังอยู่ในสถาบันการเงิน ปรับให้เป็นธรรมหน่อยก็คือ เมื่อไหร่ที่มีปัญหาเราสามารถเข้าถึงได้ มันก็ทำให้ชีวิตของเขาดำเนินไปได้ เมื่อเป็นลูกหนี้และเจอกับดอกเบี้ยสูงๆ แม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยในระบบก็ตาม และไม่สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ได้เลย บางครั้งคนที่เป็นหนี้กลุ่มนั้นไม่ใช่คนที่ใช้จ่ายเกินตัว แต่เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลหลายชีวิต การที่เขาต้องใช้สินเชื่อบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูงมันเป็นเพราะว่าขาดมือ หมุนเงินไม่ทันในบางจังหวะของชีวิตจริงๆ จึงต้องยืมเงินมาหมุนเวียนก่อน โดยหวังว่าพอเงินพิเศษเข้ามา เช่น คอมมิชชั่นต่างๆ ก็สามารถเอากลับมาชำระคืนได้ พอเกิดเรื่องแบบนี้แล้วหากไม่สามารถเข้าถึงหรือเจรจาได้ก็ทำให้ชีวิตคนกลุ่มนี้จากที่ตั้งหลักได้ ประคองได้ เลี้ยงดูอีกหลายชีวิตได้ ก็พังไปเลย พูดง่ายๆ คือ ไม่มีเงินชำระ เสียเครดิต และก็เข้าถึงสินเชื่ออื่นๆ อีกไม่ได้
ส่วนใหญ่ที่คนเป็นหนี้นอกระบบเป็นเพราะเขาเข้าไม่ถึงหนี้ในระบบ เขาไม่มีอะไรหรือใครมาการันตี จะทำอย่างไรดี เพราะเรารู้ว่าหนี้นอกระบบมันไม่เป็นธรรม
จริงๆ หนี้นอกระบบในเมืองไทยเรามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบ กับ กลุ่มที่การเงินพังหมดแล้ว คือในระบบก็กู้จนหมดจนไม่มีใครให้กู้แล้ว แต่ยังต้องหมุนเงินไปต่อเลยนำไปสู่การกู้นอกระบบ ผมเป็นห่วงกลุ่มแรกมากกว่า เพราะแนวโน้มในอนาคตอาจจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตัวธนาคารก็รู้กันดี อาจจะต้องใช้เครื่องมือตัวอื่น ยกตัวอย่าง อาจจะใช้หลักฐานทางภาษี เช่น รายได้คุณอาจจะไม่สูงแต่คุณเสียภาษี คุณยื่นรายการที่เสียภาษีแต่คุณอาจจะมีเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษี นี่คือหลักฐานว่าคุณมีรายได้ รวมไปถึงบางที่เริ่มมีเงื่อนไขว่า ถ้ามีแหล่งประกอบการเป็นหลักแหล่ง มีรูปถ่าย มีเงินที่เข้ามา บางที่ก็มีคำแนะนำด้วยว่าลองจดบันทึก ได้รับเงินเข้ามาเป็นเช็ค ให้ถ่ายรูปเก็บไว้ ดังนั้นผมคิดว่าในอนาคตก็น่าจะพาไปสู่การปรับเปลี่ยน
ส่วนต่อไปคือเรื่องเทคโนโลยี peer to peer learning ผมคิดว่าอีกไม่นานคงจะได้เห็นเพราะมีแนวโน้มไปทางนั้น มันเป็นการตอบสนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือคนที่เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ แต่สามารถยืนยันประวัติเครดิตผ่านช่องทางอื่นได้ เช่น การที่จ่ายบิลโทรศัพท์ตรงเวลา จ่ายบิลน้ำไฟตรงเวลามันสะท้อนว่าเขาเป็นคนที่ชำระหนี้ได้ตรงเวลา โลกที่มันกำลังหมุนไปตามความต้องการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวของธนาคารเอง ผมคิดว่าเขาคงพยายามปรับตัวที่จะมีความช่วยเหลือทำให้คนที่รายได้ไม่ชัดเจนเข้าถึงมากขึ้น เรื่องของเทคโนโลยีผมคิดว่ามันก็จะเข้ามาช่วยเหมือนกัน

ความรู้สึกของผู้กู้ที่มักจะมองว่าตัวเองตกต่ำ หรือถูกกดทับตลอดเวลา ด้านผู้ให้กู้ก็ดูเหมือนมีอำนาจตลอดเวลา อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมด้วยหรือเปล่า
ความรู้สึกแบบนี้ในสังคมไทยก็จะมีกันอยู่แล้ว เจ้าหนี้บางคนก็แสดงอำนาจเหมือนแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ผมว่าถ้าเราทำความเข้าใจเรื่องของการเงินจริงๆ จะเห็นว่าการให้กู้ยืมเงินมันเป็นธุรกิจ เราก็ไม่ได้ไปเอาเงินของเขามาฟรี เราจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งทางเจ้าหนี้เขาก็คิดมาแล้วว่าสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายผมจะไม่ไปแตะประเด็นนี้ละกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรายังจ่ายหนี้เขาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นว่าเราต้องมารู้สึกตกต่ำ และต้อยต่ำกว่าเขาเลย กลับกันเราเป็นลูกค้าเขาเสียอีก
ส่วนในกรณีที่เราชำระไม่ได้ ผมก็คิดว่าเราไม่ได้ต้อยต่ำกว่าอยู่ดี ต้องใช้คำว่าเมื่อเราผิดก็จะมีเงื่อนไขตามกฎหมาย มันก็มีสิทธิมาบังคับเราให้เราชำระคืนหนี้เพราะเป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่เรื่องของการที่เขาจะมากดทับเรา มายืนด่าเราหน้าบ้าน อะไรต่างๆ เหล่านี้ ผมคิดว่าก็ยังจะไม่ใช่ ต้องฟ้องร้องตามกระบวนการไปตามเรื่อง แล้วเราก็ไปประสานงานจัดการเรื่องการฟ้องร้องของเราไป อย่าไปถึงกับรู้สึกว่าเราตกต่ำ ลำพังแค่ปัญหาสภาพคล่องก็ทำให้เราแย่แล้ว อย่าทำให้การภูมิใจในชีวิตมันรู้สึกเสียหาย เรายืมเงินเขา เราไม่ได้ไปขอเขา
หรือแม้กระทั่งการจะเดินเข้าไปเจรจาต่อรองเงื่อนไขจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ย เราก็ควรจะเดินไปในความรู้สึกแบบนี้ด้วยใช่ไหม
เรามาเจรจาธุรกิจครับ ธุรกิจมีปัญหานิดหน่อย ชำระคืนไม่ได้ ก็เลยมาปรึกษาพี่ว่าผมชำระคืนไม่ได้ พี่ว่าอย่างไรดี แต่ผมไม่หนีนะ ผมตั้งใจจะคืน 10,000 บาทต่อเดือนผมจ่ายไม่ได้แล้ว ผมก็เลยตั้งใจมาคุยว่าสัก 4,500 ต่อเดือนก่อนได้ไหม ผมขอสัก 6 เดือน แล้วเมื่อพ้นจาก 6 เดือนผมจะกลับมาเป็นปกติ เพราะฉะนั้นมันคือการเจรจาธรรมดา เรามีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเจรจาได้ในนามของลูกค้าคนหนึ่ง
ในวัฒนธรรมของไทยมันมีอะไรเป็นอุปสรรคหรือเปล่า
ผมคิดว่าวัฒนธรรมไม่ใช่อุปสรรค แต่ตัวที่เป็นปัญหาในการพูดคุย เจรจา สื่อสาร ตั้งแต่การเริ่มขอสินเชื่อไปจนถึงการขอความช่วยเหลือด้านการเงินก็คือข้อเท็จจริง ถ้าเป็นเรื่องการเงินในช่วงเวลาโควิดผมก็จะบอกทุกคนว่า ไปพูดคุยเงื่อนไขเจรจาพิเศษอย่าไปตัวเปล่า แต่ให้นำตัวเลขทางการเงินทั้งหมดเข้าไปคุย แสดงให้เห็นเลยว่าเรามีภาระหนี้ที่ต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ และรายได้ที่เข้ามามีเท่าไหร่ สิ่งที่ผมจะขอจากธนาคารคุณและเดี๋ยวผมจะไปขอจากธนาคารอื่น ผมจะขอธนาคารคุณให้ลดแบบนี้ และธนาคาร 2, 3 ให้ลดตรงนี้มาตรงนี้ ผมก็จะสามารถเคลื่อนไปได้ และหลังจาก 6 เดือน โควิดมันจางไป ผมก็จะกลับมาชำระทุกท่านอย่างเป็นปกติ ดังนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวัฒนธรรมเลย แต่มันคือการมานั่งพูดคุยกันบนข้อเท็จจริง
ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร มันมีโอกาสที่บางสภาวะการเงินเราไปตกหลุมทำให้ติดขัดบางช่วง ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรหากเราเข้าไปพูดคุยถึงสภาวะ ปัญหาในบางช่วงเวลา เพื่อจะแก้และผ่านพ้นไป ทำให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเป็นปกติของเรา
โควิดตั้งแต่ระลอก 1-3 สอนหรือให้บทเรียนอะไรเราบ้าง ในเรื่องของการบริโภค การใช้จ่าย
มีหลายคนจะพูดกันว่าช่วงโควิดชีวิตเราจะเข้าสู่ New Normal แต่ผมคิดว่าในเรื่องการเงินของคนไทยมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ต้องมองหา New Normal แต่พยายามใช้ชีวิตอยู่บน Normal ทางการเงินที่ควรจะเป็น
เพราะที่ผ่านมาเราบิดเบี้ยวไปเยอะ สิ่งที่ชี้คือ เรื่องที่ 1 การบริโภคที่เกินตัวไปเยอะ เราอาจจะลองเอาตัวเลข DSR หรืออัตราเงินผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ ว่าหาเงินได้ 100 คุณใช้หนี้เกิน 40 หรือเปล่า ถ้าเกินแสดงว่าคุณใช้ชีวิตที่ผิดมาตรฐานไปหน่อย พาตัวเองมาสู่มาตรฐานเถอะครับ จะทำให้ในช่วงที่ปกติสุขเราก็อยู่สบาย ในช่วงที่มีปัญหาเราก็จะประคองตนเองได้เร็ว เพราะเราไม่มีภาระหนี้สูงเกินความที่จำเป็น
เรื่องที่ 2 คือ เงินสำรอง ผมคิดว่าการที่เราทำงานและเราได้เงินเป็นประจำอยู่ทุกเดือนเราก็เลยรู้สึกสบายใจว่าเราจะไม่มีเหตุร้ายอะไร เพราะเมื่อครบ 30 วันเงินเราจะเข้ากระเป๋าอีก Normal ที่ควรจะเป็นคือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของชีวิตเราควรจะมีเงินสำรองเอาไว้เผื่อใช้จ่ายได้สัก 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนเป็นตัวเลขที่พิสูจน์แล้วว่าตอนที่เกิดโควิดมันก็รอด ไม่ต้องถึง 12 เดือนก็ได้ เพราะว่าเวลาเราหาย เราอาจจะหายไปบางส่วนแต่เรามีเงินอยู่ 6 เดือนเราก็เอามาเติมทีละนิดได้ ดังนั้นโควิดก็มาเตือนเราว่า นอกเหนือจากการใช้ชีวิตประจำวันแบบเงินพอใช้แล้ว เราต้องเหลือไว้บ้าง สะสมไว้สำรองบ้าง
เรื่องที่ 3 คือ ความเสี่ยงในชีวิต คือความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ ถ้าใครที่เตรียมเรื่องของประกันไว้บ้าง ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับชีวิต หรือถ้าไม่ใช่ก็อาจจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพซึ่งเราใช้มันหาเงินเต็มที่เหลือเกิน ก็อาจจะกลับมาดูแลมันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ได้ ผมคิดว่าโควิดมาเตือนเราในเรื่องพวกนี้ และก็อยากตบๆ พวกเราให้เข้าสู่ Narmal ทางการเงินที่ดี