
จักรินทร์ สมแพง
อายุ 44 ปี
ตัวแทนจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร
ย้อนไปประมาณ 4-5 ปีก่อน จุดเริ่มต้นที่ทำให้ เจน-จักรินทร์ สมแพง ตัดสินใจเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคือ ต้องการเดินตามความฝันของตัวเอง
หากนับเวลาจากจุดเริ่มต้น จักรินทร์ได้ทำตามเป้าหมายของตัวเองสมใจ ทว่าตลอดทางเดินสำหรับผู้ประกอบการอย่างเขาไม่ได้ง่ายหรือสวยงามเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ
ท้ายที่สุดความฝันที่เขาเคยวาดไว้ กลับพาเขามาอยู่ในจุดตกต่ำ ชีวิตติดลบ เขากลายเป็นคนที่มีหนี้สะสมจากการกู้ยืมมากถึงหลักล้าน…
ร้านขายสินค้าเกษตรของจักรินทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ลูกค้าประจำส่วนใหญ่คือ ชาวบ้านและเกษตกรละแวกนั้น บางคนปลูกผักคะน้า ทำสวนผักกาด ปลูกกวางตุ้ง หรือผักสวนครัว ก็สามารถหาซื้อสินค้าในร้านของเขาได้
โคราชเป็นจังหวัดหัวเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก และมีกำลังจับจ่ายใช้สอย นำมาสู่การมีพื้นที่ตลาดรองรับสินค้าทางการเกษตรจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้มวลรวมของธุรกิจเกษตรครึกครื้น ทำให้กลุ่มอาชีพอย่างเขาอยู่ได้
ดูเหมือนเรื่องราวจะดำเนินไปด้วยดีที่ชีวิตชายคนหนึ่งได้ทำตามความฝันของตนเอง แต่เมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมา ในยามที่โลกเจอวิกฤติ ความโหดร้ายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าเล่นงานกลุ่มคนแทบทุกประเภท ทุกอาชีพ ทุกชนชั้นอย่างไม่เลือกหน้า
ชีวิตของจักรินทร์เปลี่ยนไปโดยชิ้นเชิง จากที่เคยค้าขายคล่อง กลับขายไม่ได้ รายรับที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอกลับหยุดนิ่ง สวนทางกับภาระและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกไว้บนบ่า
“เป็นธรรมดาที่สินค้าเกษตรจะขายดีเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาลที่ชาวบ้านเขาปลูกพืชผัก หน้าหนาวจะขายไม่ค่อยได้ แต่จะกลับมาขายดีอีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์-สิงหาคม แต่ปีที่แล้วผมขายไม่ได้เลย โควิด-19 มันหนักสำหรับผมจริงๆ”
อันที่จริงโควิด-19 ไม่ได้มีผลโดยตรงกับเกษตรกร จักรินทร์บอกว่าชาวบ้านก็ยังออกไปทำไร่ทำนาได้ตามปกติ แต่จุดที่ทำให้มีปัญหาคือ เมื่อคนในเมืองไม่สามารถเดินทางออกมาจับจ่ายใช้สอย ตลาดที่รองรับพืชผักต่างๆ จึงซบเซา
“เมื่อประชาชนไม่บริโภค พ่อค้าคนกลางก็หยุดซื้อผักจากเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีรายได้ พอเกษตรกรไม่มีรายได้ ไม่ปลูกแล้ว ก็กระทบกับธุรกิจเรา เพราะไม่รู้จะขายผลิตภัณฑ์ให้ใคร มันมีปัญหาเป็นทอดๆ”
ภาวะพลิกผันและการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะข้ามผ่าน
ช่วงที่ขายของไม่ได้ รายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับยังคงเท่าเดิม จักรินทร์บอกว่าแต่ละเดือนเขามี fixed cost ที่ต้องจ่ายเฉลี่ย 70,000-80,000 บาท ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่างวดรถ ค่าแรงงานต่างๆ
“รายรับที่เคยเข้ามาเป็นแสนๆ จนปีที่แล้วขายแทบไม่ได้ ถ้ามองเป็นกำไรต่อเดือน เฉลี่ยแล้วได้กำไรประมาณ 10,000 บาท บางเดือนที่เลวร้ายคือไม่มีกำไร แถมค่าใช้จ่ายติดลบด้วย”
ท่ามกลางวิกฤติ เขาไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามอย่างสุดตัวที่จะพาชีวิตและครอบครัวให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้
“ผมก็พยายามหาช่องทางและดิ้นรนเอาตัวรอดนะ หันไปขายปุ๋ยในช่องทางออนไลน์ ในเฟซบุ๊ค ลาซาด้า หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ ก็พอขายได้บ้าง แต่อย่าถามถึงความคุ้มค่า มันไม่คุ้มหรอก แค่พอจะให้เรามีอะไรทำไปวันๆ ไม่งั้นเราก็คงบั่นทอนชีวิตไปเรื่อยๆ”
หากใครบอกว่าชีวิตที่มีความสุข คือชีวิตที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย จักรินทร์เถียงขาดใจ
“ช่วงที่การเงินสะดุด เราก็เครียดนะ แต่ไม่รู้จะทำยังไง พยายามคิดบวก กินข้าวให้อิ่ม นอนให้อิ่ม พรุ่งนี้เช้าก็ทำงานต่อ มันคิดได้เท่านี้แหละ (หัวเราะ)”

ตลอดชีวิตการทำงาน จักรินทร์คือเสาหลักของครอบครัว เขาต้องดูแลพ่อแม่ ภรรยา และลูก 3 คน ซึ่งอยู่ในวัยเรียนและต้องกินต้องใช้ คนโตเรียนชั้น ม.2 คนกลางอนุบาล 2 ส่วนคนเล็กเพิ่งอายุ 2 ขวบ
เมื่อเสาหลักของบ้านเริ่มสั่นไหว วิกฤติโรคระบาดพาชีวิตเขาติดลบจากการกู้ยืมสถาบันการเงินต่างๆ
“ช่วงที่ขายของไม่ได้เลย ผมต้องเอารถยนต์ไปรีไฟแนนซ์ ไปกู้ ธ.ก.ส. 200,000-300,000 ติดหนี้กับทางบริษัทที่เราสั่งสินค้า แต่ขายสินค้าไม่ได้อีก นับไปนับมาก็ติดลบเป็นล้าน” เขาบอกด้วยน้ำเสียงปนเศร้า
ถามถึงความช่วยเหลือที่ได้รับ จักรินทร์ได้รับเงินจากนโยบายเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท กับได้ใช้สิทธิคนละครึ่ง ซึ่งจะมองว่าความช่วยเหลือครั้งนี้ช่างน้อยนิดก็ว่าได้ แต่ในจังหวะคับขัน เงินก้อนเล็กๆ ตรงนี้ก็พอช่วยประทังชีวิตได้
เมื่อถอยออกมามองความเจ็บปวดครั้งนี้ จักรินทร์บอกว่าไม่ใช่เพียงชีวิตเขาที่ต้องมีชะตากรรมที่แสนลำบาก ชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรโดยทั่วไปก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เขาเจอสักเท่าไร
“ชีวิตของเกษตรกรไทยต้องแบกภาระหนี้สินเยอะมาก ถ้ากวาดสายตาดู 100 คน ผมเชื่อว่าเกิน 60 คน ต้องเป็นหนี้”
จะเป็นไปได้ไหมหากหน่วยงานรัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมองเห็นชีวิตของคนในแวดวงเกษตรกรรม เพื่อนำไปสู่นโยบายและการแก้ไขเยียวยาที่ทั่วถึง
“ผมมองว่ามาตรการคนละครึ่งหรือบัตรคนจน มันไม่ได้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ลองคิดกลับกัน ถ้านำเงินส่วนนี้ไปทำมาตรการพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวเปลือก อ้อย หรือผลไม้ต่างๆ น่าจะสร้างแรงจูงใจและรับประกันว่าเกษตรกรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้”
ความโชคดีอย่างหนึ่งในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ จักรินทร์ได้รับการผ่อนผันด้วยการชะลอการชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือจากธนาคาร นี่คือเครื่องช่วยหายใจในวันที่ชีวิตโคม่า ทว่าชีวิตของเกษตรกรอีกหลายคนอาจไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเขา
“อยากให้รัฐให้ความสำคัญกับอาชีพในแวดวงเกษตกรดีขึ้นกว่านี้ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีมากๆ ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม หรือผลผลิตอื่นๆ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลย พอหน้าแล้ง ทุกคนก็บอกว่าแล้ง พอหน้าฝนทุกคนก็เจอปัญหาน้ำท่วม สิ่งนี้สะท้อนว่าระบบจัดการห่วย”