สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว
Fair Finance Thailand พาดูมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ ในรูปแบบต่างๆ
สินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการและการพักหนี้
ถึงแม้ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นผ่านสมาคมและชมรมต่างๆ รวม 9 แห่ง ได้ร่วมกันออกมาตรการขั้นต่ำช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ทั้งมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งสุดสิ้นเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ลูกหนี้ผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงนี้ไปได้
ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ครอบคลุมสินเชื่อหลายประเภท เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน เป็นต้น โดยต่ออายุมาตรการช่วยเหลือจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ล่าสุดวันที่ 23 มีนาคม 2564 ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประเกาศเพิ่มอีก 2 มาตรการใหม่ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันท้าทาย

สินเชื่อเพื่อลูกหนี้รายย่อย
ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดให้มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำรงชีพ และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร ทายาทเกษตรกร บุคคลในครัวเรือน หรือบุคคลทั่วไป วงเงินตั้งแต่ 20,000 บาท/ราย 50,000 บาท/ราย และไม่เกิน 200,000 บาท/ราย พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นต่อผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นขอสินเชื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564

สินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการ SMEs ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว
ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงจัดให้มีสินเชื่อเพื่อลูกหนี้ SMEs ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการ Soft loan ออมสิน, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสหกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน วงเงินต่อรายตั้งแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท 20 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท

กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มิได้มีเพียงผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเท่านั้น หากยังรวมถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งไม่สามารถวางแผนการจัดการชำระหนี้ในแต่ละเดือนท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
กยศ. จึงจัดให้มีมาตรการลดเบี้ยปรับตั้งแต่ 80-100% สำหรับผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ และลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระเมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว รวมถึงลดอัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เหลือ 0.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564
นอกจากนี้ ให้มีการชะลอการบังคับคดีกับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน ยกเว้นกรณีใกล้ขาดอายุความ ส่วนคดีที่มีการยึดทรัพย์ไว้แล้ว กยศ.จะชะลอการขายทอดตลาดไว้เป็นการชั่วคราว
